2020 — Tudsinjai.com : Blog area : แหล่งรู้คู่การตัดสินใจ


จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการอ่อนล้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติ? มาเช็คพร้อมกันเถอะ

ภาพประกอบจาก : besthealthmag.ca

ในยุคที่ทุกอย่างดูเร่งรีบ การทำงานแข่งกับเวลาจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจถึงขั้นทำงานหามรุ่งหามค่ำจนลืมดูแลตัวเอง สุดท้ายก็จบลงด้วยการเกิดความรู้สึกอ่อนล้าทั้งกายและใจ อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วอาการอ่อนล้าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ แม้ว่าดูเหมือนเป็นอาการทั่วไปที่ไม่น่ากังวลสักเท่าไร แต่ในบางครั้งร่างกายอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้คุณรู้ เราลองมาดูรายละเอียดพร้อมกันเลยดีกว่า


อาการอ่อนล้าในผู้ใหญ่ระดับไหนที่เรียกว่าปติ?

อาการอ่อนล้าและความรู้สึกเหนื่อยที่เกิดขึ้นในวันถัดไปถือเป็นเรื่องปกติหากคุณนอนดึก แต่จะเริ่มน่าเป็นห่วงเมื่ออาการที่ว่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัย เช่น การเผลองีบหลับในสถานการณ์ที่คุณจำเป็นต้องมีสติอย่างตอนขับรถ หรือตอนใช้เครื่องจักร ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์หากอาการอ่อนล้าเริ่มทำให้ชีวิตไม่ปลอดภัย ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องทราบว่าคุณประสบอาการมานานเพียงไรแล้วเพื่อที่จะได้หาสาเหตุของความเหนื่อยล้า

สาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย?

วิถีชีวิตและนิสัยสามารถส่งผลต่อการพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการมีสุขลักษณะการนอนที่ไม่ดี กะการทำงาน เจ็ทแล็ก และการใช้สารบางชนิด ก็ล้วนแต่ทำให้คุณมีอาการอ่อนล้ามาก
การทานยาบางชนิดเกินขนาดและการหยุดใช้ยาก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ยาต้านฮีสตามีน ยากันชัก ยาต้านอาการทางจิต ยาต้านเศร้า ยาแก้ปวด และยาระงับความวิตกกังวล เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน โรคหรือภาวะที่สามารถทำให้คุณเหนื่อยล้ามากกว่าปกติมีดังนี้
• โรคโลหิตจาง
• ภาวะอิเล็กทรอไลต์เสียสมดุล
• โรคทางพันธุกรรม โรคทางระบบประสาท และโรคเกี่ยวกับการนอน
• ภาวะที่เกี่ยวกับหัวใจ ปอด ไทรอยด์ และตับ
• ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคไบโพล่าร์
• ปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
• โรคอ้วน
• โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
• การกรน
• มะเร็งหรือโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ


ฉันสามารถป้องกันอาการอ่อนล้าและความรู้สึกหมดแรงได้อย่างไร?
การมีสุขลักษณะการนอนที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ควรและไม่ควรทำมีดังนี้

สิ่งที่ควรทำ
• นอนให้มากเท่าที่ต้องการพักผ่อนเท่านั้น แล้วค่อยลุกจากเตียง
• นอนให้ได้เวลาเดิม
• ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยทำก่อนเวลานอนอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง
• ทำให้สภาพแวดล้อมในห้องนอนเอื้อต่อการนอนหลับ
• จัดการกับความรู้สึกวิตกกังวลให้เรียบร้อยก่อนเวลาเข้านอน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
• พยายามนอนทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้สึกง่วง
• ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังจากทานอาหารกลางวัน
• ดื่มแอลกอฮอล์ใกล้เวลาเข้านอน
• สูบบุหรี่โดยเฉพาะตอนเย็น
• เข้านอนโดยที่ยังหิว
• ใช้อุปกรณ์ที่หน้าจอมีแสงก่อนเข้านอน


ผู้ใหญ่จำเป็นต้องนอนวันละกี่ชั่วโมง?


จำนวนชั่วโมงการนอนจะขึ้นอยู่กับอายุ ซึ่ง National Sleep Foundation แนะนำว่า คนที่มีอายุ 18-64 ปี ควรนอนให้ได้คืนละ 7-9 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องนอน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน


แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการอ่อนล้าเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพทีอาจเกิดขึ้น?

สัญญาณที่บอกว่าอาการอ่อนล้าสามารถเป็นอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น
• ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ
• ไม่สามารถทำให้ตัวเองตื่นตัว หรือไม่สามารถเริ่มต้นทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
• นอนโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือนอนในเวลาที่ไม่เหมาะสม
• ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง
• อ่อนล้าง่าย
• ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง หรืออารมณ์ไม่เสถียร

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์?

คุณอาจไปพบแพทย์ทันที หรือแนะนำให้คนรอบตัวไปพบแพทย์เมื่อกังวล ซึ่งแพทย์อาจประเมินคุณเพื่อหาระดับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่เป็นไปได้ โดยปกติแล้วการประเมินจะเริ่มจากการสอบประวัติโดยละเอียดและการตรวจร่างกาย ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำ Imaging Studies หรือ Sleep Studies เพื่อหาสาเหตุ