ต้นห้อม
ต้นห้อม
ห้อมและครามเป็นพืชที่ให้สีครามเหมือนกัน แต่ยังมีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่ให้สีครามเหมือนกันแต่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นการใช้แล้วคือ ต้นเบิกหรือครามเถา ห้อมและครามเป็นพืชสองชนิดที่อยู่กันคนละชนิดและคนละวงศ์ ห้อมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze พืชวงศ์ Acanthaceae ส่วนครามมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Indigofera tinctoria L. พืชวงศ์ Leguminosae พืชล้มลุกตระกูลถั่ว
ภาพถ่าย : เกสรมาเฟีย จาก gonorththailand.com
ห้อม เป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง 1.5 เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปรี กว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 5-16 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกสีม่วง ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกย่อยบานกว้าง 1.5-2 ซม. กลีบรองดอก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดโค้งงอ ปลายแยก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 4 อัน ผลเมื่อแก่แล้วจะแตกเมล็ดแบนสีน้ำตาลขนาดเล็ก
ฮ่อม หรือ ห้อม เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze เป็นสมาชิกวงศ์ต้อยติ่ง (Acanthaceae) วงศ์ย่อย Ruellioideae เผ่า Ruellieae เผ่าย่อย Strobilanthinae ชื่อท้องถิ่นหลายชื่อได้แก่ ครามหลอย (แม่ฮ่องสอน) ฮ่อม (เหนือ) ฮ่อมเมือง (น่าน) ยามสี (เย้า-น่าน) ครามเขียว (ปักษ์ใต้)
ห้อมสามารถปลูกได้โดยใช้กิ่งหรือแยกหน่อไปปักชำ โดยเลือกตัดส่วนของลำต้นที่มีข้อและราก หรือใช้เมล็ดปลูกในที่ชื้นแฉะ ห้อมมีอายุไม่แน่นอนแล้วแต่สภาพภูมิอากาศในที่นั้นๆ แต่จะเติบโตดีในที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่เสมอ หรือใกล้แหล่งน้ำ เช่น ในป่าชื้นจะพบบริเวณใกล้ลำธาร ห้อมต้องการร่มเงามากไม่ชอบแสงแดดจัด ดังนั้นจะพบตามเขตป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มและพบมาในภาคเหนือ
ความพิเศษของต้นห้อมคือ สามารถนำมาย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีครามได้จากส่วนใบและลำต้นของต้นห้อมอายุ 6-8 เดือนที่พร้อมเก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดยอดให้มีความยาวประมาณ 15-20 ซม. หากมีต้นห้อมจำนวนมากสามารถเก็บได้ทั้งกิ่ง แต่หากมีน้อยให้เด็ดเป็นใบๆ เวลาที่เหมาะสมสำหรับตัดห้อมคือช่วงเช้า เนื่องจากจะได้ใบสดและให้สีดีกว่าการเก็บในช่วงบ่าย หลังจากตัดแล้วควรปล่อยต้นห้อมให้แทงยอดใหม่ สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 2-3 เดือน หรือ 3-4 ครั้งต่อปี
นอกจากใช้ห้อมย้อมผ้าแล้ว ชาวล้านนายังใช้เป็นยาพื้นบ้าน ชาวบ้านจะใช้ใบต้มกับน้ำเปล่าดื่มลดไข้ แก้ปวดศีรษะเนื่องจากหวัดและยังบรรเทาอาการเจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมท่อมซิลอักเสบ เป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง รักษาแผลสด ห้ามเลือด และแก้อักเสบได้อีกด้วย ชาวเขาเผ่าอาข่าและลาหู่จะใช้รากและใบเคี่ยวหรือต้อมน้ำดื่ม แก้อาการปวดหลัง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร หรือตำใบพอกและคั้นน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก แก้อาการอักเสบจากพิษงู ตะขาบ แมงป่อง และแมลงอื่นๆ
บรรณานุกรม
นุชนาฏ ชาวปลายนา, จอมขวัญ เวียงเงิน. (2559). วิถี+วิธี หม้อห้อมเมืองแพร่. วิทยาลัยชุมชน, แพร่.