December 2019 — Tudsinjai.com : Blog area : แหล่งรู้คู่การตัดสินใจ


โดยปกติแล้วธรรมชาติสร้างให้ร่างกายของคนเรามีภูมิต้านทาน ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งที่เป็นภัยต่อร่างกาย เช่น สารพิษ สิ่งแปลกปลอม เชื้อโรคต่างๆ เมื่อได้รับอันตราย ร่างกายจะเตือนผู้ที่ได้รับสารนั้นด้วยการหลั่งสารหลายชนิดในร่างกาย เช่น อีสตามีน (Histamine) สารที่หลั่งออกมานี้จะก่อให้เกิดอาการแพ้ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น อักเสบ บวม แดง คัน และเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นอันตรายนั้นออกไป

เมื่อใดที่ภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ แม้จะได้รับสิ่งที่คนทั่วไปได้รับแล้วไม่เป็นอันตราย เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ยางไม้ ความร้อน ความเย็น อาหารทะเล ก็ทำให้เกิดการแพ้ได้ หรือที่เรียกว่าภูมิแพ้ ในทำนองเดียวกันอาการแพ้นี้ถ้าเกิดจากยาก็เรียกว่าการแพ้ยา
การแพ้ยาไม่ได้ขึ้นกับขนาดของยา หมายถึงได้รับยาชนิดนั้นปริมาณมากน้อยเท่าใดก็เกิดการแพ้ได้ทันที และไม่ทำลายสามารถจะชี้ชัดได้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง แต่ก็อาจพบได้ง่ายในคนที่มีประวัติแพ้ยาชนิดหนึ่งมาก่อน หรือคนที่มีประวัติของโรคภูมิแพ้ เช่น หืด หวัดเรื้อรัง ลมพิษ ผื่นคัน การรับประทานยามีโอกาสแพ้ยาน้อยที่สุด ส่วนการทายาจะทำให้แพ้ง่ายที่สุด และถ้าฉีดยาโอกาสที่แพ้เกิดรุนแรงและแก้ยากที่สุด ฉะนั้นการฉีดยาบางชนิดจึงต้องทดสอบดูก่อนว่าแพ้หรือไม่


การแพ้ยาแบ่งออกได้เป้น 2 ชนิด
1. การแพ้ยาที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แบ่งเป็น อะนาฟัยแลกซีส (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ที่พบได้น้อย แต่ว่ารุนแรงถึงชีวิต เนื่องจากหลอดลมตีบ ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ อาการที่เกิดขึ้นรวดเร็วมากต้องทำการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้เช่นนี้ เช่น เพนนิซิลิน ยาฉีดทุกชนิด
อาการแพ้อื่นๆ เช่น มีอาการผื่นคัน บวม มีไข้ หอบหืด หากหยุดยา 2-3 วันไข้ก็จะหายไป บางครั้งอาจเกิดอาการหอบหืด คัดจมูกได้
2. การแพ้ยาแบบทิ้งช่วง ร่างกายจะแสดงอาการหรือมีการตอบสนองต่อยาหลังจากได้รับยาไปแล้ว 1-2 วัน อาการที่พบได้แก่ ผื่นแดง อักเสบ เม็ดเลือดขาวลดลง โลหิตจาง แผลในกระเพาะอาหารจนถึงไตถูกทำลาย

เมื่อแพ้ยาควรทำอย่างไร?

ถ้าแพ้เพียงเล็กน้อย เช่น มีผื่นแดง คัดจมูก แน่นหน้าอก ให้หยุดยาเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน อาการเหล่านี้จะหายเองภายใน 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีผื่นคันมากอาจให้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานบรรเทาอาการได้ ถ้าแพ้รุนแรงให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ ขณะส่งแพทย์ควรทำให้ผู้ที่แพ้อาเจียน หรือให้รับประทานสิ่งที่ช่วยลดการดูดซึมของยา เช่น ยาเม็ดผงถ่าน ยาแก้ท้องเสีย เคาลินเพคติน เมื่อแพ้ยาใดแล้วต้องจดจำชื่อสามัญทางยาของยาที่แพ้นั้นหรือจดใส่สมุดบันทึกไว้ ไม่ควรจำสีหรือรูปร่างลักษณะของเม็ดยา เนื่องจากไม่อาจบ่งบอกได้แน่นอนว่าเป็นยาอะไร หากไม่มีชื่อยาบนซองหรือฉลากที่ใช้ ท่านควรกลับไปขอชื่อสามัญทางยาจากแหล่งที่ได้รับยานั้นเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง งดใช้ยาที่ท่านเคยแพ้และเมื่อไปพบแพทย์หรือซื้อยาควรแจ้งให้ทราบว่าท่านเคยแพ้ยาอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยานั้น หรือยาที่มีส่วนผสมของยาที่ท่านเคยแพ้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงกว่าที่เคยเป็นได้

ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะยาที่ท่านไม่มีโอกาสทราบเลยว่าเป้นยาอะไร เช่น ยาชุด ยาที่ไม่มีฉลาก หากเจ็บป่วยมากต้องได้รับการรักษาด้วยา ควรพบแพทย์หรือขอคำแนะนำเรื่องยาจากเภสัชกรจะดีที่สุด

แพ้ยา โดย ภญ.พูลสุข จันทร์วัฒนเดชากุล จาหนังสือ "หยูกยาน่ารู้" มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ